การตลาดของแพนด้า

ดูตามเนื้อผ้า “แพนด้า” กับ “การเมือง” นั้นไม่น่าเกี่ยวข้องกัน
แต่ถ้าพลิกประวัติศาสตร์ดูจะพบว่า จีนอาศัยหมีแพนด้าเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการทูตมาแต่ครั้งโบราณแล้ว
ครั้งเก่าแก่ที่สุดปรากฏในบันทึกโบราณว่า พระราช-นัดดาในจักรพรรดิไท่จงแห่งราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๗๐-๑๑๙๒) มีพระดำริว่าจะส่งแพนด้า ๒ ตัว และหนังแพนด้าไปถวายจักรพรรดิญี่ปุ่นเพื่อแสดงความปรารถนาดี
ส่วนในโลกสมัยใหม่ กรณีที่โด่งดังที่สุดต้องย้อนกลับไปในปี ๒๕๑๕ปีนั้น ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนจีนการเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องช็อกโลก ด้วยในยุคนั้นสงครามเย็นระหว่างค่ายเสรีประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐฯ กับค่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต (ซึ่งดำเนินไปในลักษณะสงครามตัวแทนในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ การรบระหว่างเวียดนามเหนือที่หนุนโดยโซเวียต กับเวียดนามใต้ที่หนุนโดยสหรัฐฯ และการแข่งขันกันสะสมหัวรบนิวเคลียร์) ยังไม่ยุติ สหรัฐฯ จึงไม่น่าจะเปิดความสัมพันธ์ใด ๆ กับจีนที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์นี้จึงแสดงท่าทีในการปรับกลยุทธ์ทางการทูตของสหรัฐฯ ครั้งใหญ่
หลังการเยือนจีนครั้งนั้น ทางการจีนได้ส่งหมีแพนด้าคู่หนึ่งให้แก่สหรัฐฯ เพื่อเป็นเครื่องหมายการผูกสัมพันธไมตรีอันดีระหว่าง ๒ ประเทศ โดยมันถูกส่งไปจัดแสดงในสวนสัตว์แห่งชาติ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ต่อมาประธานาธิบดีนิกสันได้ส่ง Musk Ox วัวหายากที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือคู่หนึ่งมาให้จีนเป็นการตอบแทน
แต่ครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกของ “การทูตแพนด้า” ด้วยปรากฏว่าตั้งแต่ปี ๒๕๐๑-๒๕๒๕ จีนได้ดำเนินนโยบายทางการทูตด้วยวิธีนี้กับประเทศต่าง ๆ อีก ๘ ประเทศ คือ อังกฤษ รัสเซีย เกาหลีเหนือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เม็กซิโก สเปน และเยอรมนีตะวันออก















จนปี ๒๕๒๗ บทบาทของแพนด้าในฐานะเครื่องมือทางการทูตของจีนจึงเปลี่ยนไป หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งเงื่อนไขกับสวนสัตว์ในประเทศว่าสามารถ “ยืม” แพนด้าจากจีนได้เป็นระยะเวลา ๑๐ ปีในลักษณะการทำวิจัยร่วมกัน โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจำนวน ๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่จีนทุกปี ลูกหมีแพนด้าที่เกิดระหว่างนั้นถือเป็นสมบัติของจีน ค่าธรรมเนียมทั้งหมดจะถูกนำเข้ากองทุนอนุรักษ์สัตว์ป่าจีน เพื่อนำไปใช้ในการอนุรักษ์และวิจัยหมีแพนด้าในถิ่นฐานของมัน
ต่อมาจึงเป็นข้อกำหนดที่จีนใช้ในการให้ประเทศอื่น ๆ “ยืม” แพนด้า นอกเหนือจากการพิจารณาระดับความสัมพันธ์ทางการทูตว่าสนิทแนบแน่นเพียงใด
ทว่าบทบาทด้านการทูตของแพนด้าก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ล่าสุดที่น่าสนใจได้แก่
พฤษภาคม ๒๕๕๑ ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น แล้วแจ้งว่าจีนยินดีที่ให้ญี่ปุ่นยืมแพนด้า ๒ ตัว ด้วยเหตุผลว่า “หมีแพนด้าเป็นที่นิยมในหมู่ชาวญี่ปุ่นมาก พวกมันเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีระหว่างญี่ปุ่นและจีน”
และในปี ๒๕๔๘ จีนได้เสนอแพนด้าคู่หนึ่งให้ไต้หวันยืม ทว่ารัฐบาลไต้หวันขณะนั้นที่นำโดยประธานาธิบดีเฉินสุ่ยเปียนปฏิเสธ ด้วยมองว่าจีนกำลังใช้แพนด้าเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ อีกทั้งยังมีปัญหาว่าจะตีความการขนส่งแพนด้าว่าเป็นการขนส่ง “ระหว่างประเทศ” (International) หรือ “ภายในประเทศ” (Domestic) เพราะทางการจีนยืนยันกับประชาคมโลกเสมอมาว่าไต้หวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีน จึงย่อมตีความเป็นอย่างหลัง ซึ่งถ้าไต้หวันยอมรับก็เท่ากับเสียเปรียบทางการเมือง
ต้องรอถึงปี ๒๕๕๑ ที่หม่าอิงจิ่วได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของไต้หวัน ข้อเสนอนี้จึงได้รับการตอบรับ โดยหม่าเรียกร้องไม่ให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าแพนด้าคู่นี้ ทางการจีนจัดให้มีการประกวดตั้งชื่อในประเทศก่อนส่งไต้หวัน และได้ชื่อว่า “ถวน ถวน” (Tuan Tuan) กับ “หยวน หยวน” (Yuan Yuan) เมื่อนำมารวมกันคือ “ถวนหยวน” (Tuanyuan) มีความหมายว่า “รวมเป็นหนึ่ง” (reunion)
แน่นอน แพนด้าคู่นี้ได้รับความนิยมจากคนไต้หวันไม่ต่างจากแพนด้าในสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก ปัจจุบันถ้าไม่นับประเทศจีน แพนด้าในกรงเลี้ยงทั้งหมดกระจายอยู่ในสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ออสเตรีย เยอรมนี สเปน ญี่ปุ่น ไทย เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และไต้หวันซึ่งปัจจุบันมีสถานะไม่แน่นอนในประชาคมการเมืองระหว่างประเทศ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประวัติหมีแพนด้า

การเลี้ยงดูหมีแพนด้า

การขยายพันธุ์ของหมีแพนด้า